วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553

สปก.ภูเก็ต ยันเดินหน้ายึดคืนที่จากนายทุน


เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้ (25 ม.ค.) นายธีรวุฒิ ถาวรพัฒนพงศ์ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับที่ดิน สปก.4-01 ภูเก็ต ซึ่งมีข้อพิพาทมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2537 และทาง สปก.มีการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขออำนาจสั่งยึดคืนจากผู้ครอบครองโดยขาดคุณสมบัติการเป็นเกษตรกร หรือมีการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขณะนี้มีการยึดคืนที่ดิน สปก.4-01 ภูเก็ตมาแล้วกว่า 300 ไร่ โดยเนื้อที่ทั้งหมดไม่มีการปลูกสิ่งก่อสร้างแต่อย่างใด ยังคงเป็นผืนป่าสมบูรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่ศาลฏีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว

ขณะเดียวกัน สปก.ยังมีการยื่นฟ้องขับไล่ต่อศาลชั้นต้นอีก 2 คดี ซึ่งอยู่ระหว่างสืบพยานของศาล โดย 2 คดีนี้จะเป็นการฟ้องขับไล่ผู้ที่นำที่ดิน สปก.4-01 ภูเก็ตไปใช้ในการปลูกสิ่งก่อสร้างต่างๆ เช่น โรงแรมและสถานที่พักบริเวณหาดไตรตรัง ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เนื้อที่รวมกว่า 17 ไร่ ส่วนศาลอุทธรณ์ขณะนี้ไม่มีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแล้ว และในส่วนของศาลฎีกา ยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 6 คดี เป็นคดีฟ้องขับไล่ 5 คดีและฟ้องขุดตักหน้าดินอีก 1 คดี

"พื้นที่ สปก.4-01 ภูเก็ตที่ศาลฏีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วและมีการยึดคืนกลับมากว่า 300 ไร่นั้นได้มีมติให้มีการปลูกป่าทดแทน เพื่อปรับสภาพแวดล้อมให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง โดยปี 2552 ได้มีการปลูกป่าทดแทนไปแล้วกว่า 100 ไร่ และในปี 2553 จะมีการปลูกป่าเพิ่มเติมอีกทั้งหมด เพื่อฟื้นผืนป่าให้คืนสู่ธรรมชาติโดยเร็วที่สุดต่อไป" นายธีรวุฒิกล่าวทิ้งท้าย

สำหรับคดี สปก. 4-01 ที่จังหวัดภูเก็ต ถือเป็นคดีสำคัญในประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นประเด็นที่ทำให้ นายชวน หลักภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต้องประกาศยุบสภา เนื่องจากฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นผลงานความอัปยศของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ นางอัญชลี วานิช เทพบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต และเป็นเลขาส่วนตัวนายสุเทพ โดยเป็นการเปิดประเด็นจากการมอบ สปก.4-01 ให้แก่ 19 นายหัวภูเก็ต โดยในจำนวนนั้นมีชื่อขอ นายทศพร เทพบุตร สามีของนางอัญชลี รวมอยู่ด้วย

ต่อมา เมื่อมีการเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลดังกล่าว จนกระทั่งนำไปสู่การฟ้องร้องคดีต่อศาล และศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้เหล่านายทุนเกือบทั้งหมดเป็นผู้ชนะคดี แต่ได้มีการยื่นอุทธรณ์ และฎีกา ซึ่งคดีล่าสุด ศาลจังหวัดภูเก็ต นัดอ่านคำพิพากษาศาลฏีกา เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา ในคดีที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร(ส.ป.ก.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขับไล่ออกจากที่ดิน ส.ป.ก.4-01 แปลงที่ 140 ม.2 ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ของ นายทศพร เทพบุตร สามีนางอัญชลีฯ ซึ่งศาลฏีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุธรณ์ ให้จำเลยออกจากที่ดินแปลงพิพาท

ทั้งนี้ สาระสำคัญของ คำพิพากษาศาลฎีกา ดังกล่าว ซึ่ง นายมนตรี สาโรช พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ ลักษณะสมบูรณ์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดภูเก็ต ได้ออกนั่งบัลลังค์อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 7 มิถุนายน 2550 ที่ศาลจังหวัดภูเก็ต ใน คดีหมายเลขดำที่ 1765/2541 คดีหมายเลขแดงที่ 1485/2544 สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) เป็นโจทก์ ฟ้อง นายทศพร เทพบุตร จำเลย เรื่องขับไล่ออกจากที่ดินจำนวน 98-1-7 ไร่ ในการอ่านคำพิพากษาครั้งนี้มี นายสุทธวัชร นาคสวาทดิ์ นิติกร 5 ส.ป.ก. ฝ่ายโจทก์ มานั่งพังคำพิพากษา ส่วนฝ่ายจำเลยได้ส่งทนายมาฟังคำพิพากษาเช่นกัน

โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเดิมเป็นของ นายจรัญ ตุ้งกู ซึ่งได้ครอบครองที่พิพาทมาตั้งแต่ปี 2499 และได้โอนให้จำเลยเจ้าครอบครองทำประโยชน์ตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา โจทก์ไม่มีสิทธิขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าวนั้น

ศาลฎีกาเห็นว่า การจะได้ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น ได้มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 5 ว่าให้ผู้ที่ครอบครองที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับโดย ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินต้องแจ้งการครอบครองที่ดินต่อนายอำเภอท้องที่ภายใน 180 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาตรา 3 บุคคลจะมีกรรสิทธิ์ที่ดินจะต้องได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามบทกฎหมายก่อนวันที่ ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ และมาตรา 4 บุคคลได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ให้มีสิทธิครอบครองสืบไปและคุ้มครองตลอดถึงผู้รับโอนด้วย แต่กรณีของนายจรัญได้ครอบครองที่ดินพิพาทสืบต่อมาจากบิดาของนายจรัญซึ่งครอบครองในปี 2499 อันเป็นเวลาภายหลังพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ประกาศใช้แล้ว และไม่ปรากฎว่าได้ครอบครองที่ดินโดยชอบตามบทกฎหมายใด การครอบครองของนายจรัญจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินจึงไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายจรัญ นอกจากนี้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 2 ยังบัญญัติว่าที่ดินซึ่งมิได้เป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลใดให้ถือว่าเป็นของรัฐ ดังนั้นที่ดินที่นายจรัญครอบครองจึงต้องถือว่าเป็นที่ดินของรัฐอยู่ จำเลยรับโอนมาจากนายจรัญจึงไม่มีสิทธิ์ดีกว่า โจทก์จึงมีสิทธิ์นำที่ดินดังกล่าวมาปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้

ส่วนจำเลยเป็นเกษตรกรตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 หรือไม่นั้น มาตรา 4 ให้คำนิยามไว้ว่า "เกษตรกร" หมายความว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่าจำเลยมีที่ดินอยู่ที่ในตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง 3 แปลง อยู่ในตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต 22 แปลง กับมีชื่อเป็นกรรมการบริษัท เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยจึงไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และไม่ใช่ผู้ที่ไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเองและประสงค์จะประกอบ วิชาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก จำเลยจึงไม่ใช่เกษตรกร ตามความหมายของพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อ เกษตรกรรม พ.ศ. 2518 โจทก์มีสิทธิ์นำที่ดินพิพาทมาปฏิรูปที่ดิน

จึงพิพากษายืน ...

Posted by : ทีมข่าวภูเก็ตอีนิวส์

1 ความคิดเห็น:

  1. แล้วทำไมที่ดินตรง 253 ถนนพระบารมี ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ที่ทราบข้อเท็จจริงมา เป็นที่ สปก. เหมือนกัน เห็นปล่อยให้เขาเช่าทำกิจการ แถมยังมีการสร้างต่อเติมยกเป็นบังกะโล, ร้านอาหาร, และบาร์ อยู่ โดยไม่มีทีท่าว่าจะเกรงกลัวอะไรเลย มิหนำซ้ำเป็นพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลซะด้วย

    ตอบลบ