วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2553

ทำไมประชาธิปไตยของไทยถึงเป็นหมัน

เขียนโดย พิทยา พุกกะมาน วันพุธที่ 20 มกราคม 2010 เวลา 15:06 น.


นับตั้งแต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทยโดยคณะราษฏร นำโดย พระยาพหล พลพยุหเสนา ในปี 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทยเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ หรือพูดอีกทำนองหนึ่ง ก็คือ เหมือนการเต้นรำบางจังหวะที่ประชาธิปไตยของเราก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าวแล้วก้าวถอยหลังอีกสองก้าว ฯลฯ บางช่วงก็ดูเหมือนประชาธิปไตยของไทยกำลังจะไปได้สวย แต่ก็ต้องสดุดและกลับมาเป็นระบอบเผด็จการ หรือเผด็จการซ่อนรูป

เมื่อ 34 ปีที่ผ่านมา มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เคยกล่าวสุนทรพจน์ต่อผู้นำชาวต่างประเทศ ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยในเชิงเปรียบเทียบว่า ประชาธิปไตยของไทยก็เปรียบเสมือนเด็กอายุ 43 ปี ที่เพิ่งจะเริ่มมีความรู้สึกทางเพศ (like a 43 year old child who has just reached puberty) เหตุที่ มรว. คึกฤทธิ์ฯ พูดว่าประชาธิปไตยของไทยเหมือนเด็กอายุ 43 ปีก็เพราะว่า ท่านพูดเมื่อปี 2518 เมื่อท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่บัดนี้ เวลาผ่านไป 34 ปีแล้ว ประชาธิปไตยของไทยมีอายุ 77 ปี แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประชาธิปไตยของไทยในปี 2518 แล้ว นับได้ว่าเราถอยหลัง เพราะบรรยกาศของความเป็นประชาธิปไตยในขณะนี้ค่อนข้างจะเงียบเหงา อีกทั้งรัฐธรรมนูญของปี 2550 มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่ารัฐธรรมนูญของปี 2516 ฉะนั้น อาจจะกล่าวได้ว่า ประชาธิปไตยของไทยในขณะนี้เปรียบเสมือนเด็กทารกที่มีอายุ 77 ปี แต่เพิ่งหย่านมแม่

ทำไมประชาธิปไตยของไทยจึงเลี้ยงไม่โต คำตอบก็คือ เราต้องกลับมามองที่ตัวเราเอง โดยเฉพาะคนระดับผู้บริหารประเทศก่อน นอกจากนี้ การวัดระดับความเป็นประชาธิปไตยนั้น อาจจะวัดได้จากรัฐธรรมนูญซึ่งขณะนี้มีถึง 18 ฉบับแล้ว ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดในโลก และสมควรที่จะนำไปบันทึกใน Guinness Book กล่าวคือ รัฐธรรมนูญของปี 2540 ซึ่งร่างโดยผู้แทนราษฏร มีลักษณะที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่ารัฐธรรมนูญของปี 2550 ซึ่งร่างโดยกลุ่มคนที่คณะปฏิวัติแต่งตั้งขึ้นมา ฉะนั้น ยุคที่ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญของปี 2540 เป็นยุคที่ประชาธิปไตยของไทยเจริญรุ่งเรืองมากที่สุด

อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญก็เป็นเพียง hardware เท่านั้น ปัจจัยที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นที่จะเกื้อหนุนประชาธิปไตยคือ software หรือตัวบุคคลนั่นเอง

กล่าวคือ ถ้าคนไทย โดยเฉพาะผู้บริหารประเทศ นักการเมือง ข้าราชการพลเรือน ทหาร นักธุรกิจ และนักวิชาการ มีจิตใจที่รักประชาธิปไตยและมีความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยแล้ว การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยตลอดจนการปลูกฝังวัฒนธรรมทางการเมืองก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ต้องล้มลุกคลุกคลานเหมือนเช่นเป็นอยู่ในประวัติศาสตร์ของการพัฒนาการเมืองในประเทศไทย จึงอาจจะกล่าวได้ว่า การพัฒนาประชาธิปไตยจะต้องเริ่มจากใจของคนก่อน เพราะคนเป็นผู้กำหนดทิศทางของประเทศและเป็นผู้เขียนรัฐธรรมนูญ

สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยไม่เจริญเท่าที่เราต้องการ ก็คือ พื้นฐานทางการเมือง และทางสังคมของไทยที่ไม่เอื้ออำนวย เป็นที่ยอมรับแล้วว่า ระบอบประชาธิปไตยกำเนิดขึ้นในประเทศตะวันตกเป็นเวลาแปดร้อยปีมาแล้ว โดยอาจจะพูดได้ว่าแนวคิดของระบอบประชาธิปไตยได้เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษจากเอกสารที่เรียกว่า Magna Carta ในปี คศ. 1215 หรือ พศ. 1758 เอกสารฉบับนี้อาจจะถือได้ว่าเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญฉบับแรกของโลกคือรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับอิทธิพลทางด้านเนื้อหาสาระจาก Magna Carta โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับการเคารพกระบวนการทางกฏหมาย และการปกป้องสิทธิของประชาชน ต่อมาในศตวรรษ์ที่ 18 ก็มีการบัญญัติ Bill of Rights ซึ่งเป็นการปกป้องสิทธิของประชาชนจากอำนาจของรัฐ ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา Bill of Rights ได้ขยายขอบเขตของสิทธิของประชาชนออกไปอีก และเป็นมาตรฐานที่ประเทศอื่นๆ นำไปปรับใช้

สำหรับประเทศไทยนั้น มิเคยได้รับอิทธิพลของ Magna Carta หรือ Bill of Rights จากตะวันตก เพราะไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศตะวันตก คนไทยที่ไปศึกษาต่อในต่างประเทศในช่วงรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 เช่น พระยาพหล พลพยุหเสนา และ หลวงปรีดี พนมยงค์ ก็มีเพียงไม่กี่คน แต่ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่ซึมซับถึงหลักการประชาธิปไตย แม้กระทั่งในปัจจุบัน นักเรียนไทยที่จบปริญญาเอกจากต่างประเทศก็มิได้เข้าใจหรือศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย ยิ่งร้ายไปกว่านั้น บางคนกลับไปเลื่อมใสในระบอบพิศดาร เช่น การเมือง 70-30 เพราะเขาเหล่านั้นคิดว่าจะอำนวยประโยชน์ให้แก่ตนเองแทนที่อำนาจอธิปไตยจะอยู่กับประชาชนตามเจตนารมย์ของคณะผู้ก่อตั้งประชาธิปไตยในปี 2475

นอกจากนี้ อาจจะกล่าวได้อีกว่า ประชาธิปไตยได้พัฒนามาจากระบอบเจ้าขุนมูลนายหรือ feudalism หรืออาจจะเรียกว่า "ระบอบศักดินา" ก็ได้ ซึ่งเป็นระบอบที่แพร่หลายในยุโรปในยุคกลาง (บางคนเรียกว่ายุคมืด) และในประเทศญี่ปุ่นในสมัยโชกุน ระบอบมูลนายก็คือการปกครองโดยอาศัยกฏเกณฑ์หรือข้อตกลงระหว่างชนชั้นต่างๆ ที่จะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และแต่ละชนชั้นต่างก็มีหน้าที่ ความรับผิดชอบ และข้อผูกมัด (obligation) ต่อกัน

กล่าวคือ กษัตริย์จะแต่งตั้งยศและตำแหน่งและมอบที่ดินให้แก่ขุนนาง ส่วนฝ่ายขุนนางก็จะมีหน้าที่เกณฑ์ทหารไปช่วยกษัตริย์ในยามสงคราม ชนชั้นต่ำสุดคือบ่าวหรือไพร่ (serf) ซึ่งมีหน้าที่ทำงานรับใช้พวกขุนนาง ในขณะที่ฝ่ายขุนนางมีความรับผิดชอบต่อไพร่โดยปกป้องบรรดาไพร่ ตลอดจนสร้างงานและแบ่งที่ดินให้แก่บไพร่เพื่อประกอบอาชีพ การปกครองโดยอาศัยข้อผูกมัดหรือกฏเกณฑ์ของระบอบศิกดิ์นาโดยไม่มีฝ่ายใดมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ได้ถูกพัฒนามาเป็นระบอบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในยุโรป สำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้น เคยปกครองโดยระบอบศักดิ์นาในสมัยโชกุน พอมาสมัยพระเจ้าจักรพรรดิเมจิ ระบอบศักดิ์นาก็ได้ถูกพัฒนามาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระเจ้าจักรพรรดิเป็นพระประมุข

สำหรับประเทศไทยนั้น มิได้มีวิวัฒนาการทางการเมืองเหมือนประเทศญี่ปุ่นหรือยุโรป เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในปี 2475 ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงจากบนไปหาล่าง โดยที่ประชาชนโดยเฉพาะระดับข้าราชการมิได้มีความเข้าใจหรือศรัทธาในกฏเกณฑ์และเคารพในกระบวนการของกฏหมาย ที่เขาไม่เข้าใจก็คือ ระบอบประชาธิปไตยคือระบบการปกครองตามครรลองของกฏหมายหรือรัฐธรรมนูญ ผลก็คือ มีการก่อการปฏิวัติรัฐประหารกันอย่างนับไม่ถ้วน เฉลี่ยแล้ว ทุกๆ 3 ปี กอรปกับมีรัฐธรรมนูญใหม่ทุกๆ 4 ปี ซึ่งไม่มีประเทศใดในโลกเขาทำกัน ทำให้ชาวต่างประเทศเขาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า Thailand is a joke ซึ่งแปลว่า ประเทศไทยเป็นตัวตลก ยิ่งถูกฝรั่งเขาเยาะเย้ยเราอย่างนี้ คนไทยก็เลยประชดฝรั่งโดยโฆษณาประเทศไทยว่าเป็น Amazing Thailand หรือประเทศไทยที่น่าสนเท่ห์หรือประเทศไทยอันเหลือเชื่อ ทั้งนี้ เพื่อดึงดูดให้ต่างชาติเขามาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น โดยอาศัยความเหลือเชื่อนี่แหละเป็นจุดขาย

ท้ายสุด อุปสรรค์ในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยก็คือ พื้นฐานทางสังคม กล่าวคือ คนไทยขาดวินัย และไม่ชอบเคารพกฏเกณฑ์ ชอบทำอะไรแบบไทยๆ ถ้าจะมีประชาธิปไตยก็ต้องเป็นแบบไทยๆ แม้กระทั่งม๊อบก็ยังเป็นม๊อบแบบไทยๆ นั่นก็คือม๊อบเสื้อเหลืองที่มีเส้น ในสังคมไทย ผู้ใหญ่มักจะทำตัวเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ยิ่งเป็นผู้ใหญ่เท่าใดก็ยิ่งทำตัวเหนือกฏหมายเท่านั้น เพราะหากปฏิบัติตามกฏหมายแล้ว จะถูกมองไปว่าตนเองไม่มีบารมี เขาไม่เคยคิดว่า ระบอบประชาธิปไตยนั้น คือการเคารพกติกาทางการเมืองและการปฏิบัติตามครรลองของกฏหมาย

ฉะนั้น ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ทำไมถึงได้มีการฉีกรัฐธรรมนูญอย่างง่ายดายตามอำเภอใจของผู้ใหญ่ และไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าทำไมระบอบประชาธิปไตยของไทยจึงต้องเป็นหมัน

ชาวต่างประเทศเขาหัวเราะเยาะเย้ยเราว่า Thailand is a joke แต่สำหรับคนไทยนั้น เราคงหัวเราะไม่ออก เพียงแต่รอทำตาปริบๆ และตั้งความหวังอย่างลมๆ แล้งๆ ว่าอำนาจอธิปไตยคงต้องกลับมาอยู่กับประชาชนสักวันหนึ่ง เพื่อประเทศไทยจะได้เจริญก้าวหน้าเหมือนกับนานาอารยะประเทศ ...

ที่มา: http://www.redthai.org/

Posted by : ทีมข่าวภูเก็ตอีนิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น