วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553

ทำไมเงินบริจาค ปชป. จึงเป็นไฟสุมขอน กกต.?

เขียนโดย สยามรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม 2010 เวลา 09:14 น.


จากกรณีที่มีการประเมินกันว่า ประเด็นที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ "กกต." พิจารณาเงินบริจาค บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) จำนวนกว่า 258 ล้านบาท ที่ถูกตรวจพบว่า ได้นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงปี พ.ศ. 2547-2548 ซึ่งอาจนำไปสู่การยุบพรรคประชาธิปัตย์นั้น จะเป็นปมหนึ่งที่ทำให้การเมืองในช่วงนี้ถึงเดือน ก.พ. ร้อนแรง การเมืองหน้า 3 ย้อนทวนกรณีดังกล่าวมานำเสนอดังต่อไปนี้

ปี พ.ศ. 2547 เป็นช่วงปลายของการบริหารงานของรัฐบาล "ทักษิณ 1" ช่วงเวลาดังกล่าว พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มีศัตรูทางการเมืองเกิดขึ้น 2 คน คือ สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำเสื้อเหลือง ซึ่งเคลื่อนไหวทางมวลชนเพื่อต้องการล้ม พ.ต.ท. ทักษิณ อย่างต่อเนื่อง อีกคนหนึ่งคือ ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ นายทุนใหญ่เจ้าของ ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน)

ในขณะนั้นพรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลมีเพียงพรรคเดียวคือ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมี บัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรค ส่วน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นรองหัวหน้าพรรคในขณะนั้นซึ่งมีตำแหน่งเป็นคณะกรรมการบริหารคนหนึ่งของพรรค มี ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เป็นเลขาธิการพรรค

การแข่งขันทางการเมืองเริ่มขึ้นอีกครั้ง เมื่อมีการกำหนดให้เตรียมการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 เริ่มมีการระดมทุนเพื่อนำมาใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ตั้งแต่กลางปี 2547 เรื่อยมา กระทั่งมีการประกาศผลการเลือกตั้งออกมาพรรคไทยรักไทยได้รับคะแนนเสียงท่วมท้น จนนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ "บัญญัติ" ประกาศแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ส่งผลให้ "อภิสิทธิ์" ขึ้นมาทำหน้าที่หัวหน้าพรรคแทน

เรื่องราวในคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อปรากฏชื่อ ประจวบ สังข์ขาว กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมซไซอะ บิซิเนสแอนด์ ครีเอชั่น จำกัด ได้นำเอกสารหลักฐานการโอนเงินให้กับคนใกล้ชิดของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรค เริ่มตั้งแต่ นิพนธ์ บุญญามณี , ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ไปร้องแรกแหกกระเชอให้คนช่วยติดตามเงินจำนวน 14 ล้านบาทให้ด้วย เพราะ "ประจวบ" อ้างว่า ได้เอาชื่อบริษัท ไปรับเงินจาก ทีพีไอ โพลีน ของ "ประชัย" แทนให้กับพรรคประชาธิปัตย์จำนวนกว่า 200 ล้านบาทแต่ด้วยความที่ไม่รู้เรื่อง จึงไม่ได้ดำเนินการเรื่องภาษี จนถูกเจ้าหน้าที่สรรพากรติดตามทวงเงิน แต่ปรากฏว่าไม่มีคนของประชาธิปัตย์คนใดยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือแม้แต่คนเดียว

คดีดังกล่าวได้ถูกร้องขอให้มาเป็นคดีพิเศษเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความ สำคัญคือเป็นการกล่าวหาสถาบันพรรคการเมืองเก่าแก่ กระทำผิดโดยมีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไซฟอนเงินของประชาชนมาใช้โดยผิดกฎหมาย จำนวนเงิน 258 ล้านบาท

กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ทำการสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้อย่างลับๆ ได้พยานหลักฐานสำคัญ คือ ร่องรอยทางการเงินจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน ซึ่งจ่ายมายัง บริษัท เมซไซอะ บิซิเนสแอนด์ ครีเอชั่น จำกัด หลายครั้ง ตั้งแต่กลางปี 2547 คราวละหลายสิบล้านบาท และยิ่งเพิ่มความถี่ในช่วงปลายปี 2547 ถึงต้นปี 2548 ในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น และหลังจากการเลือกตั้งผ่านไป บริษัท ทีพีไอ โพลีน ก็ไม่จ่ายเงินหรือทำธุรกรรมใดๆ กับบริษัท เมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด อีกเลย

เงินจำนวนดังกล่าวที่ผ่านเข้ามาในบัญชีของบริษัทเมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด อยู่ในบัญชีได้ไม่เกิน 1 อาทิตย์ เพราะจะถูกเบิกเงินสดออกไปยังกลุ่มบุคคลใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์จนหมดทุก ยอดที่โอนเข้ามา ที่สำคัญรายชื่อผู้รับเงินจากบริษัทเมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด ไม่มีหลักฐานทั้งทางนิตินัยหรือพฤตินัยเลยว่า มีหนี้สินกัน

"ประจวบ" ได้รับต่อหน้าคณะอนุกรรมการการเลือกตั้งว่า ตนเองได้รับคำสั่งให้ใช้ชื่อบริษัท เพื่อรับเงินแทนพรรคประชาธิปัตย์ โดยไม่มีการทำธุรกรรมใดๆ กับทีพีไอเลย เงินที่ได้มาทั้งหมด จะใช้จ่ายตามที่พรรคประชาธิปัตย์โดยอ้างว่าน้องชายเลขาธิการพรรคเป็นคนสั่งการ ดังนั้นในบัญชีงบดุลที่แสดงต่อนายทะเบียน จึงไม่มีการแจ้งรายรับจากบริษัท ทีพีไอ โพลีนเลยแม้แต่นิดเดียว แต่แก้ปัญหาด้วยการใช้ใบกำกับภาษีปลอมที่น้องชายเลขาพรรคประชาธิปัตย์ในขณะ นั้นจัดหามาให้

ประเด็นพิจารณามีอยู่ว่า เงินดังกล่าวที่ได้นำมาใช้เพื่อประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่พรรคการเมือง หรือเพื่อการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองหรือไม่

หากดูนิยามตาม มาตรา 4 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 จะพบว่าได้ให้นิยามคำว่า "ประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้" ไว้อย่างชัดเจนโดยให้ความหมายแม้กระทั่งการใช้สถานที่ ยานพาหนะ บุคลากร หรือการใช้บริการโดยไม่คิดเงิน ถือเป็นประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ทั้งสิ้น

ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้คณะอนุกรรมการ กกต. พบว่า เงินที่ทีพีไอจ่ายให้พรรคประชาธิปัตย์โดยผ่านทางบริษัท เมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด นอกเหนือจากที่ได้หอบเงินสดไปมอบให้กับบุคคลใกล้ชิดของกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ได้ถูกนำไปจ่ายเป็นค่าป้ายหาเสียง ค่าเช่าบิลบอร์ด ค่าฟิวเจอร์บอร์ด ค่าป้ายหาเสียง ส.ก. ส.ข. ค่าวัสดุอุปกรณ์ในการทำใบปลิว แผ่นพับและป้ายหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์จำนวนหลายล้านบาท

ดังนั้น เงินจำนวน 258 ล้านบาทที่ทีพีไอจ่ายให้พรรคประชาธิปัตย์ผ่านบริษัท เมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ครีเอชั่น จำกัด ถือเป็นเงินบริจาคตามกฎหมาย พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 และ 2550 ซึ่งกฎหมายบังคับให้พรรคการเมืองต้องเปิดเผยเงินบริจาค และจัดทำบัญชีรับเงินบริจาคเพื่อแสดงต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง การไม่ดำเนินการจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 และ 2550

นอกจากนี้การที่บริษัท ทีพีไอ โพลีน ซึ่งเป็นบริษัทมหาชน ได้นำเงินออกมาโดยทำหลักฐานอย่างหนึ่ง แต่นำไปใช้ในกิจการอีกอย่างหนึ่งโดยผิดกฎหมายกรรม การบริหารหรือผู้รับผิดชอบต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ขณะเดียวกันพรรคการเมืองที่รับเงิน และร่วมในการปกปิด ซุกซ่อน ต้องรับผิดด้วยในฐานะผู้ร่วมกระทำผิด ซึ่งการกระทำนี้อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ นอกจากการร่วมไซฟอนเงิน ปกปิดเงินบริจาค นำเงินบริจาคไปใช้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ยังได้รับเงินสนับสนุนจาก กกต. เพื่อนำไปใช้ในกิจการพรรคการเมือง ตามที่พรรคประชาธิปัตย์ได้นำเสนอโครงการมา จำนวนเกือบ 30 ล้านบาท เงินจำนวนดังกล่าวนี้ กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมือง ต้องนำไปใช้ตามโครงการที่ขอมาเท่านั้น โดยปรากฏหลักฐานที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นแสดงต่อ กกต. คือ ใบเสร็จรับเงินของ บริษัท เมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด เช็คสั่งจ่ายเงินจากพรรคประชาธิปัตย์ไปยังบริษัท เมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ครีเอชั่น จำกัด จำนวนหลายฉบับ

แต่จากการตรวจสอบร่องรอยทางการเงิน พบว่า การสั่งทำของหรือการทำธุรกรรมใดๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ต่อบริษัท เมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด มีพฤติการณ์เป็นพิรุธ ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายและธุรกิจที่วิญญูชนทั่วไปพึงกระทำดังนี้

1. พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีการทำสัญญาว่าจ้างบริษัท เมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด เลยแม้แต่ฉบับเดียว ทั้งๆ ที่มูลค่าการว่าจ้างเป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท

2. การวางบิล การจ่ายเงิน กระทำแบบรีบร้อนไม่มีการตรวจงาน การรับงาน

3. จากการตรวจสอบร่องรอยทางการเงิน และบัญชีของบริษัท เมซไซอะ บิซิเนสแอนด์ ครีเอชั่น จำกัดพบว่าเงินที่ได้รับมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นเงินส่วนสนับสนุนของ กกต. บริษัท เมซไซอะ บิซิเนสแอนด์ ครีเอชั่น จำกัด ได้บริหารจัดการการเงินเช่นเดียวกับที่รับมาจากทีพีไอ คือเบิกเงินออกเป็นเงินสดจ่ายให้กับกลุ่มบุคคลใกล้ชิดกับกรรมการบริหารพรรค ประชาธิปัตย์ ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานการทำธุรกรรมใดๆ เลย

4. ข้อเท็จจริงนี้ "ประจวบ" ได้ให้ปากคำกับคณะอนุกรรมการ กกต. ไปแล้วว่า การทำบิลและการทำหลักฐานต่างๆ นี้ ทำขึ้นเพื่อนำไปแสดงเป็นหลักฐานกับ กกต. เท่านั้น ความเป็นจริงไม่ได้เป็นไปตามหลักฐานนี้

นี่คือข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ที่ได้จากการสืบสวนสอบสวนของหน่วยงานสำคัญ 2 หน่วยคือกรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะอนุกรรมการ กกต. ซึ่งพยานหลักฐานเหล่านี้ย่อมผ่านตา กกต. มาแล้ว ในการพิจารณาที่ผ่านมา จนมีมติออกมา 3 เสียงต่อ 1 ต่อ 1

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 4 ฉบับคือ

1. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541

2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ่ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550

3. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541

4. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550

ที่นำเอากฎหมายมาอ้าง 4 ฉบับ เพราะในขณะที่เกิดเหตุการณ์กระทำผิดคือ 2547-2548 เป็นช่วงที่ใช้กฎหมายลำดับที่ 1 และ 3 แต่ในขณะนี้ที่ทำการสืบสวนสอบสวน ต้องใช้กฎหมายลำดับที่ 2 และ 4 แต่อย่างไรก็ตามในเนื้อหาสาระส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกันมากพอสมควร แต่เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกเข้ามาพิจารณาในเรื่องนี้ดังนี้

ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 95 บัญญัติว่าเมื่อปรากฏต่อนายทะเบียน หรือเมื่อนายทะเบียนได้รับแจ้ง และได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าพรรคการเมืองได้กระทำการตามมาตรา 94 ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งแจ้งต่ออัยการสูงสุด ในขณะที่เดิมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 67 บัญญัติว่า เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียน หรือเมื่อนายทะเบียนได้รับแจ้งจากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 66 ให้นายทะเบียนแจ้งต่ออัยการสูงสุด

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ตามกฎหมายเดิม 2541 ให้อำนาจนายทะเบียนแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ดำเนินการในขณะที่กฎหมาย 2550 บัญญัติให้นายทะเบียนต้องทำการตรวจสอบ และมีความเห็นว่าพรรคการเมืองได้กระทำการตามมาตรา 94 จึงให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง การให้ความเห็นชอบ คือการนำเข้าที่ประชุมนั่นเอง ดังนั้นถ้าหากนายทะเบียนตรวจสอบแล้ว เห็นว่า พรรคการเมืองไม่ได้กระทำการตามมาตรา 94 นายทะเบียนก็ไม่มีความจำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง คือไม่ต้องเอาเข้าที่ประชุม นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ที่อ้างถึงเรื่องนี้ต้องพิจารณากฎหมาย 4 ฉบับ นั่นคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 และ 2550 ด้วย เพราะข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ มิใช่เป็นเรื่องความปรากฏ แต่เป็นเรื่องที่มีการกล่าวหาต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีเหตุอันสมควร ว่ามีการกระทำใดอันฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการสืบสวนหรือสอบสวน ตามอำนาจหน้าที่โดยเร็ว ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด อันเป็นไปตาม มาตรา 12 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 ดังนั้นการดำเนินการทั้งหลายทั้งปวงคณะกรรมการ กกต. ต้องมีหน้าที่เข้ามาดำเนินการ มิใช่โยนการตัดสินใจให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเพียงผู้เดียว

ปรากฏหลักฐานสำคัญคือ รายงานการประชุมครั้งที่ 48/2552 เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 30 เมษายน 2552 ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณาเรื่องที่กรมสอบสวนคดีพิเศษส่งไปให้ พิจารณาแล้ว เห็นว่า เมื่อมีความปรากฏต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีเหตุอันสมควรว่า มีการกระทำใดอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว เพื่อให้ได้ข้อมูลและข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาเป็นไปด้วยความรอบคอบ และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย จึงมีมติแต่งตั้งให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยเรื่องคัดค้าน และปัญหาหรือข้อโต้แย้ง เป็นคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนเรื่องดังกล่าว ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวนสอบสวน และวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2550 แล้วให้เสนอความเห็นเพื่อประกอบการวินิจฉัยสั่งการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ภายใน 30 วัน)

แสดงว่าเรื่องนี้ได้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้งตาม มาตรา 12 พ.ร.บ. ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 แล้ว จะมาอ้างตามที่ปรากฏตามสื่อสารมวลชนมิได้

อีกเรื่องหนึ่งที่คณะกรรมการ กกต. เสียงส่วนใหญ่ทราบดีคือ เรื่องนี้มิใช่เรื่องที่อยู่ในอำนาจคณะกรรมการ กกต. เพียงหน่วยงานเดียว แต่ยังมีกรมสอบสวนคดีพิเศษทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนคู่ขนานไปด้วยกัน ซึ่งพยานหลักฐานที่ กกต. มี กรมสอบสวนคดีพิเศษก็มีเช่นกัน

และว่ากันว่าอาจมีมากกว่า กกต. เสียด้วย ทำให้วันนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษคงรอดูท่าทีกกต. ว่าจะเอาอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยกับอดีต กกต.

ที่มา: http://www.siamrath.co.th/UIFont/NewsDetail.aspx?cid=50&nid=55194


Posted by : ทีมข่าวภูเก็ตอีนิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น