วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553

อย่าใช้ ก.ม.ฉุกเฉินจนลืม...!!!

นที่สุด นายกรัฐมนตรีก็ตัดสินใจยกเลิกประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานในเวลาที่กำหนดใน 24 จังหวัด รวมทั้ง กรุงเทพมหานคร หลังจากที่มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมสถานการณ์โดยรวมได้ แต่พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะยังมีผลใช้บังคับต่อไปโดยไม่มีกำหนด แต่เชื่อว่าจะมีการยกเลิกกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ

การห้ามมิให้บุคคลออกนอกเคหสถานภายในเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นบุคคลที่ได้รับยกเว้น เป็นมาตรการที่ออกตาม พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน และเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ค่อนข้างเข้มงวด ทั้งสิทธิและเสรีภาพในการเดินทาง การประกอบอาชีพและการท่องเที่ยว การยกเลิก "เคอร์ฟิว" จะทำให้การดำเนินชีวิตประชาชนคืนสู่ภาวะปกติ

ส่วนการประกาศใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินใน 24 จังหวัด คงจะมีผลใช้บังคับต่อไปตามเวลาอันสมควร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของบ้านเมือง แต่หวังว่ารัฐบาลคงจะไม่คิดที่จะปกครองด้วยกฎหมายฉุกเฉินตลอดกาล จนกลายเป็นเรื่องชินชาหรือถูกลืม เหมือนกับรัฐบาลเผด็จการหลายคณะในอดีต และเหมือนกับจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายจังหวัดที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินมานานหลายปี

เนื่องจาก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นกฎหมายพิเศษ มีบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของ ประชาชน เช่น เสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการเสนอข่าว และเสรีภาพในการใช้เส้นทางคมนาคม เป็นต้น จึงกระทบต่อการดำเนินชีวิตตามปกติ และกระทบต่อเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน จึงต้องใช้ต่อเมื่อมีความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น

รัฐบาลจะต้องไม่ใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อมุ่งจำกัดสิทธิและเสรีภาพ หรือขัดขวางการใช้เสรีภาพทางการเมืองของประชาชน โดยอ้างความมั่นคงของประเทศ แต่จะต้องใช้ต่อเมื่อจำเป็นจริงๆเท่านั้น และนอกจากกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ยังมี กฎหมายการรักษาความมั่นคงภายในฯที่มีความเข้มข้นน้อยกว่ากฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งรัฐบาลประกาศใช้เมื่อเริ่มต้นการชุมนุม

ไม่ทราบว่ารัฐบาลได้ประกาศยกเลิกกฎหมายความมั่นคงภายในแล้วหรือยัง หลังจากที่กฎหมายฉบับนั้นไม่สามารถควบคุมการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ให้อยู่ในความสงบตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายความมั่นคงภายในมอบอำนาจให้ฝ่ายทหาร (โดยผ่าน กอ.รมน.) รับผิดชอบในการป้องกัน  ปรามปราบ  ระงับ ยับยั้ง  และแก้ไขเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายใน  คล้ายกับกฎหมายภาวะฉุกเฉิน

กฎหมายความมั่นคงภายใน มีบทบัญญัติที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือ ให้ส่งตัวผู้ต้องหากระทำผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรที่หลงผิดและกลับใจไปเข้ารับการอบรมไม่เกิน 6 เดือน และไม่ต้องรับโทษ แต่ เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายความมั่นคงภายใน อาจจะไม่มั่นใจในหลัก ประกันการปฏิบัติหน้าที่ เพราะไม่ได้รับการยกเว้นความรับผิดทางแพ่ง อาญา และวินัย เหมือนกฎหมายฉุกเฉิน...


บทบรรณาธิการ

----------------------------------------------------------
ที่มา : http://www.thairath.co.th/column/pol/editor/86429
ภาพประกอบ : แมลงหวี่
Posted by : ทีมข่าวภูเก็ตอีนิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น