วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ทน.ภูเก็ตดึงผู้ปกครองแก้ปัญหาเด็กอ้วน

กองการแพทย์เทศบาลนครภูเก็ต กำหนดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง“การใช้การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) กับกรณีเด็กอ้วนในนักเรียนสังกัดเทศบาลนครภูเก็ตโดยใช้เทคนิคต้นไม้ปัญหา” โดยเชิญผู้ปกครองนักเรียนและนักเรียนที่น้ำหนักเกินมาตรฐาน ผู้บริหารสถานศึกษา สื่อมวลชน พ่อค้า/แม่ค้าแผงลอยหน้าโรงเรียน /ในโรงเรียน จำนวน 200 คน ร่วมประชุมปรับพฤติกรรมเสี่ยงในวันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม 2552 ณ ห้องประชุมโรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว

นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรคอ้วนได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพต่อประชาชนคนไทยเป็นอย่างมากโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งหากอยู่ในสภาวะโรคอ้วน ก็จะทำให้การเจริญเติบโต และพัฒนาการด้านต่างๆลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีคุณภาพได้ เทศบาลนครภูเก็ตตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว โดยกองการแพทย์ ได้ทำการสำรวจ และดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาเด็กน้ำหนักเกินมาตรฐาน ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จนทำให้สัดส่วนของเด็กอ้วนลดลงเหลือ 10.06%(1,052คน จาก 10,462 คน)ในปี 2551 จาก 15.22%(1,274 คน จาก 8,374 คน)ในปี 2548 อย่างไรก็ตาม การลดจำนวนของนักเรียนอ้วนส่วนใหญ่เกิดจากมาตรการที่กองการแพทย์ฯและผู้บริหารสถานศึกษาร่วมมือกันจัดทำขึ้น แต่ยังขาดมาตรการที่กำหนดโดยผู้ปกครองของนักเรียนที่อ้วน กองการแพทย์ฯจึงได้จัดทำเครื่องมือ“การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ” หรือ (Health Impact Assessment,HIA)ขึ้น เพื่อสร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากภาคีผู้ปกครองของเด็กนักเรียน, ครู,ผู้บริหารโรงเรียน, ภาคีในส่วนของพ่อค้า แม่ค้าแผงลอยที่จำหน่ายอาหารทั้งด้านหน้าและในโรงเรียน โดย HIA ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนคือ

1.การกลั่นกรองปัญหา
2.การกำหนดขอบเขตของปัญหา
3.การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ
4.การจัดทำรายงาน/ข้อเสนอแนะ
5.การติดตามประเมินผล

นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับยุทธศาสตร์ฉบับปฏิบัติการ (SLM) ที่จะใช้ในการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพกรณีเด็กอ้วนใน ร.ร.สังกัดเทศบาลนครภูเก็ตประกอบด้วยการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านสุขภาพของนักเรียนให้ทันสมัย โดยจัดเก็บข้อมูลภาวะโภชนาการนักเรียนในโรงเรียนสังกัดเทศบาล,ศึกษาข้อมูลครอบครัว/ผู้ปกครองของนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย ผู้ปกครอง นักเรียน ครู ผู้ค้าแผงลอย สื่อมวลชน เข้าถึงข้อมูลเด็กอ้วน นำเสนออันตรายจากโรคอ้วน ขอความร่วมมือจากผู้ค้าแผงลอยหน้าโรงเรียน และในโรงเรียนให้มีส่วนร่วมในการไม่ขายอาหารขยะ นอกจากนี้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารขยะของบุตรหลาน โดยเป็นต้นแบบ“ไม่อ้วน” แก่บุตรหลาน ร่วมมือกับครูปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารขยะ สนับสนุนให้เด็กเพิ่มกิจกรรมทางกาย การเคลื่อนไหวโรงเรียนมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาเด็กอ้วน เช่นการจัดอาหารกลางวัน/อาหารว่างที่ถูกหลักโภชนาการ เช่นกินผลไม้แทนขนมหวาน ฝึกเด็กกินน้ำเปล่าแทนน้ำอัดลม,บุรณาการเรื่องโภชนาการในหลักสูตร,จัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนให้ปลอดภัยจากการโฆษณาอาหารขยะ,จัดระเบียบผู้ค้าแผงลอยทั้งในและหน้าโรงเรียน,เพิ่มการออกกำลังกาย 15 นาทีทุกวัน เด็กอ้วนและเด็กปกติมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้จะมุ่งไปสู่อุบัติการณ์เด็กอ้วนในโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครภูเก็ต ลดลง 5% ภายในปีการศึกษา 2554 และมีน้ำหนักตามเกณฑ์อายุและน้ำหนักตามเกณฑ์ความสูง – สมส่วน ...

Posted by : ทีมข่าวภูเก็ตอีนิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น