วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553

บวงสรวงอนุสรณ์สถานขุนเลิศโภคารักษ์


สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตประกอบพิธีทำบุญเสริมสิริมงคล บวงสรวงอนุสรณ์สถานขุนเลิศโภคารักษ์ ประจำปี 2553

เมื่อเช้าวันนี้ (18 ส.ค.) ที่บริเวณลานหน้าสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต นายวิบูลชัย ณ ระนอง พร้อมด้วย นางออตตาวา ณ ระนอง, นางวิภาพรรณ คูสุวรรณ, นายสมศักดิ์ คูสุวรรณ และทายาทขุนเลิศโภคารักษ์ ร่วมประกอบพิธีทำบุญเสริมสิริมงคล บวงสรวงอนุสรณ์สถานขุนเลิศโภคารักษ์ ประจำปี 2553โดยมี นางสาวประภา กาหยี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต, นายสมชาย สกุลทัพ รองอธิการบดีและ นายสาวิตร พงศ์วัชร ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรมตลอดจน นางจรูญรัตน์ ตัณฑวณิช และคณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนักศึกษามาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้สำนักศิลปะและวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตประกอบพิธีทำบุญเสริมสิริมงคล บวงสรวงอนุสรณ์สถานขุนเลิศโภคารักษ์ เป็นประจำทุกปีประมาณกลางเดือนสิงหาคมโดยคณะทายาทของขุนเลิศโภคารักษ์ ร่วมประกอบพิธีไหว้บรรพบุรุษและวางพวงมาลัยดอกไม้สด พร้อมกับจุดธูปเทียนบูชาเผากระดาษเงิน กระดาษทอง อุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับตามประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดภูเก็ต หลังจากนั้นเริ่มประกอบพิธีทางศาสนา บูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 5 รูปสวดเจริญพระพุทธมนต์ และถวายปัจจัยไทยธรรมเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยมีนักศึกษาโปรแกรมวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ร่วมบรรเลงดนตรีไทยตลอดงาน

สำหรับขุนเลิศโภคารักษ์ มีนามเดิมว่า นายหลิ่ม ตันบุญ เกิดเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2439 ที่ที่เมืองตั้งงั๊ว มณฑลฮกเกี้ยน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้ามาเมืองไทยในขณะที่มีอายุได้เพียง 19 ปีเท่านั้น และมีภรรยาคือนางเลิศ โภคารักษ์ มีธิดา 1 คน คือ นางกาญจนา ณ ระนอง และนายเจริญ แซ่ตัน บุตรบุญธรรม จากประวัติความเป็นมา ทำงานรับจ้างแจวเรือลำเลียงกรรมการเรือขุด บริษัททุ่งคาฮาร์เบอร์ภูเก็ต มีฐานะยากจน และทางการเคยมอบหมายหน้าที่ให้เป็นนายท้ายเรือลำเลียงพ่วงตามเรือพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกและพระองค์ประทับแรม ที่จังหวัดภูเก็ตหลายวัน และในครั้งนั้นนายหลิ่ม ตันบุญ ได้รับพระราชทานแหนบ ปปร.

ในเวลาต่อมา นายหลิ่ม ตันบุญ เลือกประกอบอาชีพที่หลากหลาย ทั้งเป็นคนงานเหมืองแร่ดีบุก รับจ้างทำสวนผัก และสองสามีภรรยาเคยถึงขนาดเร่ร่อนอยู่ตามลำธาร รับจ้างแจวเรือลำเลียงและยกฐานะเป็นผู้เฝ้าเครื่องยนต์ ตลอดจนประกอบการเดินเรือโดยสารและขนส่งสินค้าในพื้นที่ระหว่างจังหวัดภูเก็ต พังงากระบี่และอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง หลังจากนั้นเริ่มทำเหมืองแล่นที่บนเขาอานม้า บ้านทุ่งทอง ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ ตลอดจน พรุผักลำ และที่ “ในดี” ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง แต่ไม่ได้ผล จนหันกลับไปประกอบการค้าและเดินเรือดังเดิม ประกอบกับเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือมหาสงครามเอเชียบูรพา การเดินเรืออยู่ในสภาพไม่ปลอดภัยจึงต้องทำงานอย่างหนักในช่วงนั้น

เมื่อประสบปัญหาการค้าตกต่ำหลังสงคราม จึงหันไปประกอบการเหมืองแร่ดีบุกอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้บทเรียน ที่ผ่านมา ให้ระมัดระวังและกล้าตัดสินใจยิ่งขึ้น และมีการขอทำเหมืองสูบที่บ้านสะปำ ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมืองภูเก็ต ที่เป็นประทานบัตรของบริษัทเซาเทิร์น คินตา จำกัด ประมาณ 200 ไร่และได้รับสินแร่ดีบุกจำนวนมากต่อเนื่องจนถึงปี 2501 ต่อมาขยายการทำเหมืองสูบไปที่บ้านสามกอง ตำบลรัษฎา และที่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

อย่างไรก็ดี เมื่อประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วขุนเลิศโภคารักษ์ สนับสนุนกิจกรรมสาธารณกุศลต่างๆมากมายทั้งการสร้างห้องพยาบาล โรงพยาบาล โรงเรียน ห้องสมุดจนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญบำเหน็จในพระองค์คือเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น 4 ในปี 2502 ตริตาภรณ์มงกุฏไทยเมื่อปี2510และเหรียญกาชาดสมนาคุณ เนื่องในโอกาสที่บริจาคเงินสร้างศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ 200,000 บาท รวมทั้งเป็นคหบดี ผู้บริจาคที่ดินจำนวน 273 ไร่ให้แก่วิทยาลัยครูภูเก็ตหรือมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตในปัจจุบัน และขุนเลิศโภคารักษ์ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา ที่บ้านเลขที่ 56 ถนนถลาง ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต รวมสิริอายุได้ 76 ปีและเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 มีการวางศิลาฤกษ์ เพื่อก่อสร้างอนุสรณ์สถานขุนเลิศโภคารักษ์ เพื่อรำลึกถึงบุคคลสำคัญที่มีคุณูปการสำหรับสังคมภูเก็ต อยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตจนถึงปัจจุบัน ...

----------------------------------------------------------
Posted by : ทีมข่าวภูเก็ตอีนิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น