"จะต้องจัดการปกครอง โดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร"
จาก "ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1" ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2475
***********************
เมื่อปี 2525 ในโอกาสครบรอบ 50 ปี "การอภิวัฒน์สยาม 2475" สถานวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย (ยุติการกระจายเสียง จากสถานีวิทยุบีบีซี กรุงลอนดอนในวันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2549) จัดรายการสัมภาษณ์นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ฝ่ายพลเรือน (หรือ"คณะราษฎร") รัฐบุรุษอาวุโส และผู้ประศาสน์การ (อธิการบดี) คนแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
การสัมภาษณ์มีขึ้น ณ ที่พักในอองโตนี ชานกรุง ปารีส โดย ดร.จริยวัฒน์ สันตะบุตร พนักงานนอกเวลาของบีบีซี โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญที่ขบวนการประชาชนที่พยายามรับภารกิจสำคัญสืบทอดจาก เจตนารมณ์ในเบื้องต้นของการอภิวัฒน์ นายปรีดีได้มองย้อนหลังความล้มเหลวในการพยายามสถาปนาระบอบประชาธิปไตย รวมถึงการให้อรรถาธิบายถึงความเป็น "ประชาธิปไตยสมบูรณ์" ของรัฐธรรมนูญ ฉบับ 9 พฤษภาคม 2489
ก่อนจะนำบางส่วนของเนื้อการสัมภาษณ์ครั้งนั้น มานำเสนอเพื่อศึกษาเชื่อมโยงขบวนการประชาธิปไตยต่างยุคต่างสมัย ในห้างเวลาที่ต่างกันถึง 77 ปี ขอนำประกาศ "คณะกรรมการราษฎร (คณะรัฐมนตรี)" ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2475 นั่นคือ 1 สัปดาห์หลังการยึดอำนาจและประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1
***********************
แถลงการณ์คณะกรรมการราษฎร
เนื่อง แต่คณะราษฎรได้มีประกาศแสดงถึงการกระทำของกษัตริย์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.นี้ และต่อมาคณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครอง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแก่ราษฎรแล้วนั้น
ต่อมาเมื่อวัน ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. นี้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาปรีชาชลยุทธ พระยาศรีวิสารวาจา พระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กรรมการราษฎรได้ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วังสุโขทัย ทรงรับสั่งถึงความจริงที่ได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยดีต่อราษฎร และทรงพระราชดำริจะให้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแก่ราษฎรอยู่แล้ว และสิ่งอื่นๆ ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะกระทำก็ล่าช้าไป หาทันกาลสมัยไม่ ส่วนการที่ข้าราชการในรัฐบาลของพระองค์ใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต ก็ทรงสอดส่องอยู่เหมือนกัน หาได้สมรู้ร่วมคิดด้วยไม่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรารถนาดีต่อราษฎรเช่นนี้ และทรงยอมร่วมเข้าคณะราษฎร โดยเป็นประมุขของประเทศสยามแล้ว ฉะนั้น คณะกรรมการราษฎรจึงเชื่อมั่นว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ปรารถนาดีต่อราษฎร
ประกาศ ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2475
***********************
ใจความสำคัญของเนื้อความในประกาศทั้ง 2 ฉบับนั้น แสดงอย่างชัดเจนถึง การเปลี่ยนผ่านการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน กระทั่งหลังการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 นั้นเอง จึงเป็น ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ
แต่ ด้วยความผันผวน ช่วงชิงอำนาจทางการเมือง ตลอดช่วงแรกของการอภิวัฒน์ที่นำไปสู่การทำรัฐประหาร และความพยายามก่อกบฏ นับจากในวันที่ 1 เมษายน 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญเกือบทุกมาตรา ถัดมาในวันที่ 2 เมษายน คณะรัฐมนตรีชุดเดียวกันก็ผลักดันให้รัฐสภามีมติผ่านพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งหมายถึง "คณะราษฎร" อันนำไปสู่ การถูกเนรเทศโดยทางพฤตินัย เมื่อนายปรีดีถูกบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศไปยังฝรั่งเศส ในวันที่ 12 เมษายนนั้นเอง เนื่องจากความเห็นของนายปรีดีถูกโจมตีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ภายหลังการเสนอเค้าโครงร่างทางเศรษฐกิจ
ต่อมาในวันที่ 10 มิถุนายน พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระประศาสน์พิทยายุทธ และ พระยาฤทธิอัคเนย์ ผู้นำสายทหารของคณะราษฎรยื่นจดหมายลาออก ก่อนที่อีก 10 วันต่อมา คือในวันที่ 20 มิถุนายน พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา จึงเป็นผู้นำยึดอำนาจ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี หลังจากการรัฐประหารได้มีการล้างมลทินให้นายปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐมนูธรรม
จากนั้นตามมาด้วย "กบฏบวรเดช" ในเดือนตุลาคม 2476 และการประกาศสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 และ "กบฏพระยาทรงสุรเดช" หรือ "กบฏ 18 ศพ" เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2482 ซึ่งรัฐบาล ป.พิบูลสงคราม ดำเนินการกวาดล้างโดย พันเอกหลวงอดุลยเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีมหาดไทย จับตายนายทหารสายพระยาทรงสุรเดช 3 คน จับกุมผู้ต้องสงสัย จำนวน 51 คน ในจำนวนนี้ศาลพิเศษตัดสินปล่อยตัวพ้นข้อหา 7 คน จำคุกตลอดชีวิต 25 คน โทษประหารชีวิตจำนวน 21 คน แต่ให้เว้นการประหาร คงเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต 3 คนที่เรือนจำบางขวางและตะรุเตา เนื่องจากเคยประกอบคุณงามความดีให้กับประเทศชาติ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร (ถูกถอดออกจากฐานันดรศักดิ์ แต่ได้มีการประกาศสถาปนาพระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์ตามเดิม เมื่อ พ.ศ. 2487 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2495), พลโท พระยาเทพหัสดิน และ พันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์
จนเวลาล่วงเลยมาถึงปี 2525 นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง ที่เคยพำนักอยู่ทั้ง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และบั้นปลายจึงพำนักเป็นการถาวร ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศส จึงเปิดใจในทัศนะต่อการล้มลุกคลุกคลานของประชาธิปไตยในประเทศไทย
***********************
ความผิดพลาดบกพร่องของคณะราษฎรของประเทศ คือ ความผิดพลาดบกพร่องที่เหมือนกับทุกๆขบวนการเมือง และความผิดพลาดของคณะราษฎรโดยเฉพาะ ในส่วนที่ว่าเหมือนกับทุกขบวนการก็คือ ความขัดแย้งภายในขบวนการเมือง ทุกคณะพรรคการเมือง ที่ต่อสู้ระหว่างกันตามวิถีทางรัฐสภานั้น ก็มีความขัดแย้งภายในพรรคนั้นๆ แม้ว่าคณะพรรคใดได้อำนาจรัฐแล้วก็ดี แต่ความขัดแย้งภายในพรรคนั้นก็ยังคงมีอยู่
ดังนั้น จึงปรากฏว่าคณะพรรคมากหลาย ได้มีการแตกแยกออกเป็นหลายส่วน หรือสลายไปทั้งคณะพรรค ส่วนคณะพรรคหรือขบวนการที่ใช้วิธีต่อสู้ทางอาวุธนั้น ก็ปรากฏความขัดแย้งและการแตกแยกทำนองเดียวกันดังกล่าวข้างต้นแล้ว ประวัติศาสตร์แห่งสมัยระบบศักดินาแห่งมนุษยชาตินั้น เคยมีตัวอย่างที่คณะบุคคลหนึ่งใช้วิธีต่อสู้ทางอาวุธต่อผู้ครองอำนาจรัฐได้ สำเร็จแล้ว ภายในคณะพรรคนั้นเองก็มีบุคคลที่มีความโลภ และความริษยา ซึ่งเกิดจากรากฐานแห่งความเห็นแก่ตัวขนาดหนักนั้น ใช้วิธีทำลายคนในคณะเดียวกันเพื่อคนๆเดียวได้เป็นศูนย์กลางแห่งกิจกรรมทั้งหลาย หรือที่เรียกว่า egocentrism โดยจุดอ่อนของคณะราษฎรโดยเฉพาะนั้น ก็แบ่งออกได้เป็น 4 ประการด้วยกัน คือ
ประการที่ 1 ขาดการศึกษาถึงกฎแห่งความขัดแย้งในขบวนการเมือง ยกตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่กล่าวมาแล้ว จึงทำให้สมาชิกส่วนมากขาดความระมัดระวังต่อการที่สมาชิกจำนวนหนึ่งฟื้นฟาด ทัศนะเผด็จการชาติศักดินาซึ่งเป็นการโต้อภิวัฒน์ หรือ counter-revolution ต่อการอภิวัฒน์ ซึ่งตนเองได้เคยพลีชีวิตร่วมกับคณะ
ประการที่ 2 คณะราษฎรคิดแต่เพียงเอาชนะทางยุทธวิธีในการยึดอำนาจรัฐเป็นสำคัญ โดยไม่ได้คิดให้รอบคอบว่าจะรักษาชัยชนะไว้ได้อย่างไรจึงจะไม่ถูกการโต้อภิ วัฒน์ซึ่งจะทำให้ชาติต้องเดินถอยหลังเข้าคลอง
ประการที่ 3 นอกจากท่านหัวหน้าคณะราษฎร 3 ท่าน คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุระเดช พระยาฤทธิ์อาคเนย์ มีความรู้ความชำนาญการทหารสามารถนำคณะยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว ส่วนสมาชิกหลายคนแม้มีความรู้ทางทฤษฎีเกี่ยวกับการสถาปนาประเทศ แต่ก็ขาดการชำนาญในการปฏิบัติและขาดความชำนาญในการติดต่อกับราษฎรอย่างกว้าง ขวาง อาทิ ผม เป็นต้น
ประการที่ 4 การเชิญข้าราชการเก่ามาร่วมบริหารประเทศนั้น ผมหวังให้ท่านเหล่านั้นก้าวหน้ามากเกินไปกว่าที่ท่านจะทำได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในกระบวนการอภิวัฒน์ ถึงกับมีการปิดสภา และเลิกใช้รัฐธรรมนูญถาวร ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 เป็นเหตุที่ทำให้ระบบประชาธิปไตยของประเทศไทยยังไม่เกิดขึ้นแท้จริงจนทุกวันนี้…
แม้คณะราษฎรมีจุดอ่อนหลายประการดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่จุดอ่อนดังกล่าวได้ทำให้ระบบประชาธิปไตยการล่าช้า ไปจนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 เท่านั้น ที่ผมตอบเช่นนี้ไม่ได้เป็นความที่ผมต้องการแก้ตัวแต่ได้กล่าวตามหลักฐานแท้จริง ซึ่งผมขอให้ท่านพิจารณา ดังนี้คือ
ก. คณะราษฎรได้ต่อสู้ความขัดแย้งภายในคณะ และการโต้อภิวัฒน์จากภายในคณะและภายนอกคณะ มาหลายครั้งหลายหน แต่คณะราษฎรเองได้ปฏิบัติตามหลักทุกประการของคณะราษฎรที่ได้ประกาศไว้ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ให้สำเร็จไปก่อนวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 อันเป็นวันที่ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ทั้ง 6 ประการนี้ ซึ่งได้แก่ ความเป็นเอกราชสมบูรณ์, การให้ความปลอดภัยในประเทศ, การดำรงความสุขของราษฎรในทางเศรษฐกิจ, ให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน, การให้ราษฎรมีเสรีภาพและความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลักดังกล่าวข้างต้น, และ ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
ในแง่ของรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ได้บัญญัติขึ้นตามวิธีการที่บัญญัติไว้โดยรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งเป็นแม่บท ท่านผู้มีใจเป็นธรรมโปรดพิจารณาหลักฐานประวัติ ศาสตร์ระบบรัฐธรรมนูญ ก็จะเห็นได้ว่าถูกต้องสมบูรณ์ และในสาระก็เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ เพราะได้ยกเลิกบทเฉพาะกาล ที่ให้มีสมาชิกประเภทที่ 2 ที่ได้รับการแต่งตั้ง
ข. ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจรัฐ ล้มระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ ที่ได้สถาปนาขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ ฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 ครั้นแล้วคณะรัฐประหารได้สถาปนารัฐธรรมนูญซึ่งมีฉายาว่า "รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม" เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2490 อันเป็นโมฆะ ทั้งรูปแบบแห่งกฎหมาย และในสาระสำคัญของระบบประชาธิปไตย ซึ่งผมได้กล่าวชี้แจงไว้ในหลายบทความแล้ว อาทิ กรมขุนไชยนาทฯ พระองค์เดียว ไม่มีอำนาจลงพระนามแทนคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ และ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อ้างตำแหน่งผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราช โองการนั้น ก็เป็นโมฆะ เพราะเป็นตำแหน่งที่คณะรัฐประหารตั้งให้ มิใช่เป็นรัฐมนตรีซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ยิ่งกว่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มได้บัญญัติให้วุฒิสภาซึ่งสมาชิกเป็นผู้ได้รับการแต่ง ตั้ง มิใช่โดยการเลือกตั้งของราษฎร จึงมิใช่ประชาธิปไตยสมบูรณ์เหมือนดั่งรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489
***********************
รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มดังกล่าว ได้เป็นแม่บทให้รัฐธรรมนูญอีกหลายๆฉบับต่อๆมา ซึ่งวุฒิสมาชิกได้รับการแต่งตั้งและบางครั้งที่สมาชิกสภาผู้แทนฯ ส่วนหนึ่งก็ได้รับการแต่งตั้ง หนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับในปัจจุบันนี้ เรียกระบบปกครองเช่นนี้ว่า "ประชาธิปไตยครึ่งใบ".
Posted by : ทีมข่าวภูเก็ตอีนิวส์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น