ทำท่าจะเป็นเรื่องใหญ่กว่าน้ำผึ้งหยดเดียวไปเสียแล้ว กับประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อข้อตกลงสุภาพบุรุษระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลกับเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ แกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลที่ทำงานอย่างประดักประเดิดมาเป็นระยะ ท่ามกลางความพยายามฉุดกระชากลากถูให้พ้นปลักทุจริต ทีละเปลาะ รวมทั้งเรื่องความโปร่งใสจากข้อกล่าวหาผลประโยชน์ทับซ้อน ไล่กันมาตั้งแต่เรื่องนมโรงเรียน ปลากระป๋องเน่า รถเมล์เอ็นจีวี 4000 คัน มาจนถึงกรณีจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงสาธารณสุขตามโครงการไทยเข้มแข็ง
มติ ปชป. สวนกระแสพรรคร่วมฯ
แต่ไคลแม็กซ์ของการเมืองในฟากบริหาร กลับอยู่ที่การเมืองภายในของพรรคร่วมรัฐบาลเอง ทันทีที่พรรคประชาธิปัตย์ลงมติไม่ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะประมุขฝ่ายบริการ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 (สทท.11) เมื่อเช้าวันที่ 31 มกราคม ว่า
"มันมีหลายมาตราหลายประเด็นที่ไม่เข้าข่าย และไม่ได้เป็นการแก้ไขเพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยโดยตรง โดยหนึ่งในประเด็นเหล่านี้คือ เรื่องเขตเลือกตั้ง ซึ่งได้พูดกับพรรคร่วมรัฐบาลตั้งแต่ตอนไปคุยเรื่องการตั้งรัฐบาลว่าประเด็น นี้ความเห็นพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ตรงกัน เพราะเคยเสนอตอนที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ได้ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า เชื่อว่าระบบปัจจุบันที่เป็นเขตเลือกตั้งใหญ่ดีกว่า เพราะช่วยลดความแตกแยกในการแข่งขัน ทำให้การแข่งขันรุนแรงน้อยกว่า และแก้ปัญหาธุรกิจการเมืองได้ส่วนหนึ่ง. . . "
ปมเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด
ในขณะที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ให้สัมภาษณ์รายการ "เช้าข่าวข้น" ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ถึงกรณีนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ชทพ. เขียนจดหมายสะท้อนความไม่พอใจถึงนายกรัฐมนตรี เนื่องจากนายสมศักดิ์อยู่ในเหตุการณ์รับปากเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่นายบรรหารคุยกัน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรคปชป.
"หากผมเป็นพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อรักษาน้ำใจพรรคร่วมรัฐบาล ผมจะออก 2 มติ คือ 1. มติไม่เห็นด้วยที่จะให้สมาชิกพรรคไปเซ็น (ร่วมญัตติ) อันนี้รับได้ รักษาน้ำใจพรรคร่วมแล้ว และ 2. ฟังการอภิปรายในสภาก่อนว่ามีเหตุผลอย่างไร ตรงนี้อาจไม่เอาก็ได้ ถือเป็นรักษาน้ำใจพรรคร่วมรัฐบาล มันก็ดี" ก่อนจะทิ้งท้ายเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าแก้เป็นเขตเล็กหมายความว่ากำลังบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้ประโยชน์เอง นายบรรหารกล่าวว่า ก็ถูกต้องนี่แต่ดันมาว่าพวกตน ว่าแก้แล้วตนได้ประโยชน์
พรรคการเมืองอายุวัฒนะ
พรรคประชาธิปัตย์ไม่เพียงได้ชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองเก่าที่สุดในประเทศไทย ทังนี้จากข้อเท็จจริงที่ว่าเป็นพรรคการเมืองพลเรือนเพียงพรรคเดียว ที่รอดปากเหยี่ยวปากกาของการทำรัฐประหารยึดอำนาจโดยฝ่ายทหารมาตลอด แม้ในปี 2519 จะถูกกระแส "ขวาพิฆาตซ้าย" ด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ ถึงขนาดมีฝูงชนจัดตั้งขวาจัดบุกเข้าทำเนียบรัฐบาล จะเข้าไปแขวนคอ 3 รัฐมนตรี ได้แก่ นายชวน หลีกภัย , นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ และ นายสุรินทร์ มาศดิตถ์
แต่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้ลงไปพบและยืนยันว่าบุคคลทั้ง 3 ไม่ได้มีพฤติกรรมดังกล่าว โดยรับปากจะบอกให้รัฐมนตรีทั้ง 3 ลาออกเองเพื่อความสงบของบ้านเมือง แต่ในเวลาต่อมาพรรคการเมืองที่ดูเหมือนจะมีความเข้มแข็งและยืนยงคงทนต่ออุณหภูมิทางการเมืองที่ร้อนเท่าร้อน กลับปรากฏว่าผลตรงกันข้ามกลับไปตกอยู่ที่ตำแหน่ง "แม่บ้าน" หรือเลขาธิการพรรค
เส้นทางเลขาฯพรรค "บนเส้นลวด"
เริ่มจาก นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ เลขาธิการพรรคฯ ระหว่าง 13 พฤศจิกายน 2518 - 6 ตุลาคม 2521 ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ช่วง 6 ตุลาฯ 19 มาทำอัตวินิบาตกรรมในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขณะนั่งรถประจำตำแหน่งมาทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 เนื่องจากความเครียด ว่างเว้นจากเรื่องร้ายๆไป 3 เลขาฯ ก็ข้ามมาที่ นายวีระ มุสิกพงศ์ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งเลขาฯพรรค ระหว่าง 5 เมษายน 2529 - 10 มกราคม 2531 และถือว่าเป็นนักการเมืองระดับโชกโชน
ไล่มาตั้งแต่การเข้าร่วมกบฏ 26 มีนาคม 2520 โดย พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ เพื่อโค่นล้มรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร แต่ไม่สำเร็จ ถูกจำคุกด้วยข้อหากบฏ ตามมาด้วยปี พ.ศ. 2529 ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค ก็มีอันต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากการปราศรัยหาเสียงที่จังหวัดบุรีรัมย์ ต้องโทษจำคุก 4 ปี แต่ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากได้รับพระราชทานอภัยโทษ โดยคำขอพระราชทานอภัยโทษ ลงนามเสนอโดย พลเอกประจวบ สุนทรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
อาถรรพณ์บ้านสนามบินน้ำ
คนถัดมา พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ซึ่งถือว่าเป็นเลขาธิการพรรค ที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุด คือจาก 10 มกราคม 2530 จนกระทั่ง ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2543 ว่ามีความผิด ฐานจงใจแสดง บัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 295 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ทำให้ต้องลาออกจากตำแหน่ง เลขาธิการพรรค ที่เป็นมายาวนานถึง 13 ปี โดยมี นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เข้ารักษาการตำแหน่งเลขาธิการพรรคเป็นเวลาสั้นๆ
และต่อมา นายอนันต์ อนันตกูล จึงได้รับเลือกให้ขึ้นดำรงตำแหน่งในปี 2544 นายประดิษฐ์ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดพิจิตรอีกครั้ง และต่อมาในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2548 ที่มี นายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายประดิษฐ์ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค และย้ายไปลงสมัครในแบบระบบบัญชีรายชื่อ ในขณะดำรงตำแหน่ง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นายประดิษฐ์มีไอเดียที่ฮือฮาต่อสาธารณะคือ ยุทธศาสตร์ "อีแต๋นพลีชีพ" หลังการรัฐประหารปี 2549 นายประดิษฐ์กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง หลังจากลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์กลางปี 2550 และเปิดตัวกลุ่มการเมืองใหม่ ในชื่อ "กลุ่มรวมใจไทย" ร่วมกับ ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ และ ดร.พิจิตต รัตตกุล ฯลฯ
อนาคตของที่มารัฐบาลเทพประทาน
หลังจากรัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นตำแหน่งเนื่องจากพรรคพลังประชาชนถูกศาลวินิจฉัยให้ยุบพรรค เกิดการย้ายขั้วทางการเมืองที่ว่ากันว่าเป็นฝีมือดำเนินการของนายสุเทพ เทือกสุบรรณเลขาธิการฯจนพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นำไปสู่กรณี "งูเห่า" ภาคพิสดาร จนเป็น Talk of the Town ข้ามปีชนิด "ไม่เผาผี" ระหว่าง "นายเก่า" กับ "คนสนิท" ระดับออกนอกหน้ามาหลายปี
แต่กับการที่ไม่สามารถรักษาสัญญาสุภาพบุรุษที่มีพยานรู้เห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รู้กันทั้งเมืองว่าเป็นแค่การชิงจังหวะความได้เปรียบสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าที่ไม่แน่ว่าจะมาถึงเมื่อใด นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถึงกับเปรยมาด้วยน้ำเสียงอ่อยๆว่า "ถ้ายังงี้ยุบสภาไปเลยจะดีกว่า" คำถามคือ ถ้าเกิดยุบสภา เลือกตั้งใหม่เข้าจริงๆ หรืออาจจะเกิดเอ็กซิเด็นท์ทางการเมืองที่ลือกันแล้วลือกันอีก ที่ต้องยืดเวลาเลือกตั้งกันไปอีกระยะหนึ่งพร้อมกับเกิดสุญญากาศในระบอบประชาธิปไตยอีกรอบ. . .
เมื่อถึงตอนนั้น "ใคร" จะมาเป็นเลขาธิการพรรคการเมืองเก่าแก่และ never die นี้.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ Thai Freedom / ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 ปักษ์แรก กุมภาพันธ์ 2553
Posted by : ทีมข่าวภูเก็ตอีนิวส์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น